วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บทความการเล่นฟุตบอล

ในการเล่นกีฬาแทบทุกประเภท ย่อมจะมีการปะทะกันทางด้านอารมณ์และร่างกาย จนอาจก่อให้เกิดเรื่องบาดหมางถึงขั้นก่อเหตุวิวาทระหว่างผู้เล่น หรือผู้ชม ที่ให้กำลังใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ถ้าหากสามารถรู้จักควบคุมตนเอง มีการอภัยซึ่งกันและกัน คือความหมายของคำว่า "น้ำใจนักกีฬา"


สำหรับการแข่งขันฟุตบอลของเมืองสยาม เมื่อยุคเริ่มต้นนั้น จึงมักจะเกิดเรื่องวิวาทกันบ่อยครั้ง จนทำให้ "หมากเตะ" ถูกมองว่าเป็นกีฬาที่มีแต่ความรุนแรงมากกว่าการ ........เล่นเพื่อการออกกำลังกาย ดังนั้น พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) หรือครูทอง ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คนแรกระหว่างปี พ.ศ. 2454 - 2456 จึงได้เขียน "ความเห็นโดยเฉพาะ" หรือ "ความเห็นเอกชน" (ปัจจุบัน เรียกว่า "บทความ") เรื่อง "จรรยาของผู้เล่นและผู้ดูฟุตบอล" ขึ้นใน พ.ศ. 2457 ลงในหนังสือวิทยาจารย์ ของสามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งกล่าวกันว่า คือบทความกีฬาฟุตบอลเรื่องแรกของสยาม โดยเนื้อหาสำคัญพยายามจะเตือนสตินักเลงลูกหนังทั้งผู้เล่นและผู้ดูให้รู้จักมารยาทของเกมฟุตบอล

พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) ผู้เขียนบทความดังกล่าว เกิดวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2420 ณ จังหวัดพระนคร บิดาชื่อหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) และมารดาชื่อนางธรรมานวัติจำนง (เพิ้ง) เริ่มเรียนประโยคสอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พระบรมมหาราชวัง และเป็นนักเรียนรุ่นแรก ของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ จนจบวุฒิ ป.ป. เมื่อ พ.ศ. 2437 ต่อมาเข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนกรมแผนที่ สระปทุมธานี และโรงเรียนมหาดเล็ก ตามลำดับ โดยตำแหน่งสุดท้าย คือผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2468) ก่อนเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2485

ในสมัยเรียนหนังสือ พระยาโอวาทวรกิจ นอกจากจะเป็นนักโต้วาทีและนักแสดงละครที่เก่งกาจแล้ว ยังเล่นฟุตบอลตามสมัยนิยม จนเป็นที่กล่าวถึงเรื่องความมีน้ำใจนักกีฬากันทั่วไป

"...ท่านเป็นผู้ที่มีนิสัยร่าเริง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เคยเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ครั้นร่างกายไม่อำนวยให้ท่านเล่นกีฬาหนัก ๆ ได้ ท่านก็ยังชอบกีฬาอื่น ๆ สารพัด ทั้งมีน้ำใจนักเป็นนักเลงพร้อมกันไปด้วย ท่านเขียนเรื่องจรรยาของผู้เล่นและผู้ดูฟุตบอล ลงในหนังสือวิทยาจารย์..." (ประวัติครู ของคุรุสภา/รอง ศยามานนท์/พ.ศ. 2512)

จึงขอนำบทความกีฬาของ พระยาโอวาทวรกิจ อันเป็นประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลของไทย มาบันทึกไว้เพื่อกรณีศึกษา ดังนี้

"บทความกีฬา 2457
จรรยาของผู้เล่นและผู้ดูฟุตบอล
ความเห็นโดยเฉพาะ ของ ครูทอง

การนิยมการเล่นฟุตบอลของพวกเราในเวลานี้ เนื่องจากกรมศึกษาธิการ เพราะเหตุว่ากรมศึกษาธิการได้สร้างโล่ขึ้นไว้สำหรับให้รางวัลแก่ฝ่ายชนะ เมื่อแรกก็มีแต่โล่หเดียว เดี๋ยวนี้มีถึง 3 โล่ จัดออกเป็น 3 พวก คือพวกเล็ก พวกกลาง พวกใหญ่ และยอมให้โรงเรียนที่มิได้ขึ้นอยู่ในกรมศึกษาธิการ เข้าแข่งขันได้ด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้การเล่นฟุตบอลนี้แพร่หลายเพราะเล็งเห็นประโยชน์ของเล่นฟุตบอลว่า เปนเกมที่เพาะความเปนนักเลงในพวกได้ดี และเปนเครื่องฝึกหัดกำลังของลูกผู้ชายอย่างดีอย่างหนึ่ง ในบัดนี้การเล่นฟุตบอลก็เปนที่พอใจของพวกผู้ชายเปนอันมาก แม้แต่คนที่ไม่สามารถจะเล่นได้ เพราะมีอายุมาก หรือร่างกายทรุดโทรมเสียแล้ว ก็ยังมีความปรารถนาดูการเล่นอยู่ พยานที่มองเห็นได้ ก็คือวันใด ถ้าคณะใดจะเข้าแข่งขันซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในการเล่นนี้แล้ว ก็มีผู้พอใจพากันมาดูเปนอันมาก แม้แต่พวกผู้หญิง ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเห็นว่าเปนนักดูการเล่นเช่นนี้ก็ยังมาพลอยเห็นดีด้วยพากันมามาก ๆ เหมือนกัน ก็การเล่นฟุตบอล ซึ่งเรานิยมพร้อมเพรียงกันดี ฉะนี้ แล้วจึงจำเปนอยู่เอง ที่เราควรจะพยายามเล่นให้เปนประโยชน์ได้จริง ตามระเบียบของการเล่น และให้ได้ประโยชน์พอแก่ความประสงต์ของผู้ที่ได้คิดการเล่นนี้ขึ้น กล่าวคือการเล่นฟุตบอลมีกติกา เปนที่เข้าใจกันไว้เปนข้อ ๆ ซึ่งกรมศึกษาธิการได้แปลจากภาษาอังกฤษเปนภาษาไทยแล้ว และดูเหมือนทุก ๆ คนจะมีสมุดกติการนี้ทั่วกันแล้ว เพราะฉะนั้นข้อกติกาเรื่องนี้ไม่จำเปนต้องกล่าวในที่นี้ จะขอกล่าวแต่พวกที่เล่นหรือพวกผู้ดู ว่าข้อที่ท่านควรปฏิบัติ ให้เปนที่ถูกต้องตามระเบียบนั้น คือจะทำอย่างไร หรือว่าถ้าท่านเล่นหรือท่านดู ท่านควรจะรักษาจรรยาอะไรบ้าง ท่านไม่ต้องสงสัยแม้แต่เปนโจรก็ยังต้องมีจรรยาเหมือนกัน เหตุฉะนั้นการเล่นฟุตบอล หรือดูฟุตบอล ก็จำเปนต้องมีจรรยา

จรรยาของผู้เล่น

ต้องรักษากติกาของการเล่นอย่างกวดขัน พยายามไม่ให้ผิด แม้แต่พลาดพลั้งไป เช่นสวนเข้าเตะลูกบอล แต่ฝ่ายเขาเตะลูกไปแล้ว ตนก็เตะสวนไปโดยยั้งไม่ทัน ไปถูกแข้ง จะถึงผู้ตัดสินลงโทษ ให้ฝ่ายเขาเตะกินเปล่า หรือตั้งใจว่าจะเอาอกปะทะลูกบอล แต่พลาดไป เลยเอามือกางรับไว้ ลูกบอลถูกแขนที่เปนข้อห้าม ต้องถูกลงโทษให้เตะกินเปล่า หรือฝ่ายเขาไล่ลูกบอลไปหน้า เราวิ่งสกัดไม่ทัน ไล่ตามไปโดนเขาข้างหลังถูกทำโทษ เขาเตะกินเปล่า และทุก ๆ ครั้งที่ถูกทำโทษ โดยให้เขาเตะกินเปล่าเหล่านี้เปนต้น ต้องถือว่าเราควรละอายแก่ความผิดที่เราทำแล้วนั้น ๆ ทุกครั้ง

ข้อนี้ผู้เล่นบางคนได้ทำผิด แต่ไม่รู้สึกความละอาย และกว่าจะหมดเวลา ก็ยิ่งทวีความผิดขึ้นเสมอ ๆ จนไปเข้าใจตนเองว่า ถึงถูกเตะกินเปล่าก็ได้เปรียบที่เตะแข้ง หรือโดนเสียจนให้พอใจ ก็เปนที่พอใจของตนแล้ว ผู้ที่ถูกโดนหรือถูกเตะแข้งควรรู้สึกตนเองว่า นั่นเปนการเสียระเบียบฝ่ายเขา ไม่ควรจะบันดาลโทษะ จนต้องทิ้งจรรยา กลับไปตอบโต้ฝ่ายเขาจนต้องถูกลงโทษบ้าง และต่อไปต่างฝ่ายต่างก็ละกติกายอมให้ลงโทษเปนดีกว่าอื่น การเล่นเช่นนี้ควรได้ชื่อว่าไม่ใช่นักเลง และเปนคนไม่มีความละอายต่อความผิด ถึงแม้ว่าจะชนะฝ่ายหนึ่งได้ โดยที่ตนละเลยกติกาเอาความผิดเข้าแลกเปลี่ยนความีไชยแก่ฝ่ายหนึ่งนั้น ก็เห็นจะได้แต่คะแนนของการรางวัลโล่ห์ชั่วคราว แต่ต่อไปถ้าเขามีคะแนนระเบียบการเรียบร้อย คือคิดหักถอนความผิดเป็นการละเอียดขึ้น ก็เห็นจะมีทางน้อยที่จะได้รับรางวัล และคงจะไม่มีโอกาสได้รับเชิญจากคนอื่นไปเล่นด้วยกันอย่างฉันมิตร์

จรรยาของผู้ดู

จะเป็นพวกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือดูเปนของกลาง ๆ จริง แต่ไม่ควรที่จะมีกิริยาวาจาส่อให้เห็นว่าคนทุจริตประการใดประการหนึ่ง เช่นบอกให้ผู้เล่นโดนผิดกติกา หรือเยาะเย้ยศัตรูในเวลาล้ม หรือเตะผิด หรือแพ้ จะช่วยด้วยการบอกก็ดี หรือท่าทางก็ดี ไม่เปนการห้ามปราม เช่นบอกให้เตะโกล์ บอลให้หลบ บอกเตะแรง ให้หน้าให้ตาก็ได้

การผิดกติกาของการเล่น บางคราวผู้ดูบางคนที่เปนฝ่ายพวกเล่น มักจะส่งเสริม คนชนิดนี้ ได้ชื่อว่าไม่ใช่นักเลง"

จากบทความดังกล่าว ของพระยาโอวาทวรกิจ แม้จะล่วงเลยมากว่า 80 ปีแล้วก็ตาม จะเห็นได้ว่าปัจจุบันยังสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ในขณะที่ "จรรยาของผู้เล่น" และ "จรรยาของผู้ดู" มีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง หากแต่ "จรรยาของผู้บริหาร" ในช่วงทศวรรษนี้ คงต้องสร้างรูปธรรมมากกว่าความสำเร็จระดับ "อาเซียน" ที่ดูเหมือนจะธรรมดาไปเสียแล้ว สำหรับเกียรติภูมิของทีมชาติไทย.

ภาพการเตะฟุตบอล